ทำความรู้จักกับ “พายุ” มีกี่ประเภท? เกิดได้อย่างไร?

คุยกันได้ แวะมาทักทาย ทุกเรื่อง จับฉ่าย รวมมิตร บ้านเล็กบ้านน้อย
พูดคุยเรื่องนอกบ้าน
smanpruksa
Full Member
Full Member
โพสต์: 113
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 02 ก.ค. 2020 4:23 pm

ทำความรู้จักกับ “พายุ” มีกี่ประเภท? เกิดได้อย่างไร?

โพสต์โดย smanpruksa » พฤหัสฯ. 18 พ.ย. 2021 10:46 am

“น้ำท่วม” เป็นเหตุภัยภิบัติสำคัญที่ประชาชนทุกคนต้องคอยติดตามข่าวสารเรื่องปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในเขื่อนที่อาจส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข่าวสารเรื่อง “พายุ” ที่คาดการณ์ว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยในช่วงสัปดาห์นี้ (ตรวจสอบสภาพอากาศประเทศไทยล่าสุด https://www.tmd.go.th/thailand.php) แต่หลายครั้งที่ได้ติดตามฟังข่าวสารก็ยิ่งเกิดความสงสัยถึงศัพท์ทางวิชาการต่างๆ ที่ได้ยิน แล้วคำต่างๆ ที่ใช้เรียก พายุ มีความหมายว่าอย่างไร? แตกต่างกันอย่างไร? สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาบอกค่ะ
พายุเกิดขึ้นได้อย่างไร?

พายุ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลม หรือ มวลอากาศที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิจากบรรยากาศโดยรอบ มักเกิดในพื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดกระแสลมพัดเข้าหาจุดศูนย์กลางของบริเวณดังกล่าวเนื่องจากมวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง ส่งผลให้มวลอากาศในแนวราบที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าเข้ามาแทนที่ เกิดการหมุนเวียนของอากาศจนเป็นกระแสการเคลื่อนที่ของลม ก่อนพัฒนาเป็นพายุในรูปแบบต่างๆ

[size=large]ประเภทของพายุ[/size]

ประเภทของพายุจะแตกต่างกันไปตามความแรงของมวลอากาศในพายุและสาเหตุของการเกิดพายุ โดยสามารถแบ่งพายุออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)

เป็นพายุที่เกิดขึ้นได้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้นมาก โดยมากเกิดในประเทศเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร เมื่ออากาศได้รับความร้อนและลอยตัวสูงขึ้นและมีไอน้ำในปริมาณมากพอ จะเกิดการกลั่นตัวควบแน่นเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งมักมีทั้งลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฝนตกหนักเกิดขึ้นพร้อมกัน

2. พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone)

เป็นพายุหมุนที่ก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเส้นศูนย์สูตร (ค่าความกดอากาศต่ำเกิดจากการที่มวลอากาศได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์และยกตัวสูงขึ้น ทำให้ความกดอากาศบริเวณนั้นลดลง) มักเกิดบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรง หากยิ่งใกล้จุดศูนย์กลางของพายุ ลมจะหมุนจนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วอยู่ที่ประมาณ 120 – 200 กม./ชม. โดยสามารถแบ่งประเภทของพายุหมุนเขตร้อนได้ตามความแรงของลมพายุ ได้แก่

2.1. พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอริเคน (Typhoon or Hurricane) มีคุณลักษณะดังนี้
• มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุ ตั้งแต่ 118 กม./ชม. ขึ้นไป
• มีระดับความรุนแรงมากที่สุด สามารถทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน อาจทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่น เกิดไฟฟ้าช็อตหรือเพลิงไหม้ได้
• เมื่ออยู่ในทะเลจะมีคลื่นลมแรงจัดมาก เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ โดยเฉพาะเรือเล็ก
• อาจมีคลื่นใหญ่ซัดชายฝั่ง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากจนท่วมอาคารบ้านเรือนริมทะเลได้
• มักจะเกิด “ตาพายุ” ขึ้นตรงศูนย์กลางพายุ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด มีลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย แต่รอบๆ จะเป็นบริเวณที่มีลมพัดแรงจัด มีเมฆครึ้ม มีฝนตกพายุรุนแรง

2.2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีคุณลักษณะดังนี้
• เกิดขึ้นเมื่อพายุเฮอริเคนอ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
• มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุ 63 กม./ชม.ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม.
• มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้
• มีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องตลอดทั้งวันจนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้
• พายุระดับนี้อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง

2.3. พายุดีเปรสชัน (Tropical Depression) มีคุณลักษณะดังนี้
• เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง
• มีความเร็วลมสูงสุดบริเวณศูนย์กลางของพายุไม่ถึง 63 กม./ชม. ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก
• มีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้
• พายุระดับนี้จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆหนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน

3. พายุทอร์นาโด (Tornado) หรือ พายุงวงช้าง

เป็นพายุที่เกิดขึ้นจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันจนก่อตัวให้เกิดลมหมุน เกิดขึ้นได้ทั้งบนบกและทะเล ประมาณร้อยละ 90 เกิดขึ้นบนบกและสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกทวีปและในหลายประเทศทั่วโลก แต่พบบ่อยในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสภาพภูมิประเทศสามารถก่อให้เกิดลมร้อนและไอเย็นปะทะกันได้บริเวณทุ่งราบ โดยทอร์นาโดสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ที่พบได้บ่อยสุด ได้แก่

• มีลักษณะรูปทรงกรวย พายุจะก่อตัวจากก้อนเมฆ และหมุนตัวยื่นลงมาบนผืนดินในลักษณะเป็นกรวยเกลียว
• มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่านศูนย์กลางน้อย ประมาณ 50-500 เมตร แต่หมุนด้วยความเร็วสูง โดยความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงจะมากกว่าพายุหมุนอื่นๆ ซึ่งอาจเร็วถึง 500 กม./ชม.
• เป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงที่สุดและอันตรายมากที่สุด
• ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดทอร์นาโดล่วงหน้าได้นาน แม้ว่าพายุชนิดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ก่อความเสียหายระดับรุนแรง จนสามารถกวาดยกบ้านเรือนทั้งหลังให้พังทลายได้

พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่มักเป็นพายุหมุนเขตร้อนดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ซึ่งมักจะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่เดือนตุลาคมจะเป็นเดือนที่พายุมีโอกาสเคลื่อนมาได้มากที่สุด โดยเฉพาะในวันที่ 11-13 ต.ค. นี้ที่บริเวณพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงภาคเหนือของประเทศไทยอาจมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชันไลออนร็อกที่กำลังทวีความรุนแรงจนกลายเป็นพายุโซนร้อนในที่สุด ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงควรติดตามข่าวสารทางอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 79 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน