ข้อมูล อำเภอ บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 82 กิโลเมตร มีพื้นที่ 5,351 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11
แปดริ้ว
ลุงหนวด
Power Membership
Power Membership
โพสต์: 4406
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 12 ธ.ค. 2014 12:01 pm

ข้อมูล อำเภอ บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา

โพสต์โดย ลุงหนวด » เสาร์ 01 ก.ย. 2012 6:25 pm

ข้อมูล อำเภอ บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากอำเภอบ้านโพธิ์ ถึง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประมาณ 14 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของอำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 217.593 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา, อำเภอพานทอง และอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอบ้านโพธิ์ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนหลาย ๆ ครัวเรือนมากขึ้น ก็เกิดเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงสร้างวัด หรือศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถ้าหากจะคะเนว่าชุมชนใดมีอายุเท่าใด หลักฐานที่พอจะเป็นที่เชื่อถือได้ก็คือ วัด หมู่บ้านสนามจันทร์เกิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานบ่งบอกได้เลย แต่ถ้าดูจากการสร้างวัดสนามจันทร์ ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 บ้านสนามจันทร์มีอายุถึง 147 ปี
ในปี พ.ศ. 2446 ตำบลบ้านโพธิ์ในปัจจุบัน มีชื่อว่าตำบลสนามจันทร์ ดังรายงานการตรวจราชการมณฑลปราจีน ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องการยุบอำเภอหัวไทร ไปรวมกับอำเภอบางคล้า และจัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ความว่า
“ถ้าดูตามลำน้ำที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับอำเภอบางคล้าห่างกันทางราว 1 ชั่วโมง เห็นด้วยเกล้าฯว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย คงย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่จะเรียกนามอำเภอสนามจันทร์ ใต้เมืองฉะเชิงเทรา”
และอีกข้อความหนึ่งในความว่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านมาก ควรแบ่งท้องที่ตั้งเป็นอำเภอขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอถ้าไปตั้งในคลองประเวศบุรีรมย์ก็ไม่อยู่กึ่งกลางท้องที่ จึงเลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์เป็นที่ตั้งอำเภอ ความกราบบังคมทูลดังนี้
“ราษฎรที่อยู่ทางลำน้ำไปมาลำบากเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรตั้งที่ลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรา เหนือปากคลองสนามจันทร์ เพราะเป็นท้องที่ มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่โดยรอบ แลเป็นทำเลโจรผู้ร้ายปล้นสะดมชุกชุม ส่วนนามอำเภอเรียกว่า อำเภอสนามจันทร์ เกล้าฯ ได้เลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแลจะยกโรงตำรวจภูธร ที่อำเภอหัวไทรมาตั้งอยู่ที่อำเภอสนามจันทร์ด้วย”
สรุปได้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลปราจีน เป็นผู้จัดตั้งอำเภอบ้านโพธิ์ โดยแยกออกมาจากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้าน และตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลักแรก เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรก คือ ขุนประจำจันทเขตต์ (ชวน)
เหตุที่ชื่อบ้านสนามจันทร์ มีประวัติเล่ากันว่า สมัยที่ท้องที่ยังเป็นป่าอยู่ มีเสือชุกชุม มีพระยา 3 ท่าน ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำ ราษฎรเรียกว่า หนองสามพระยา และเรียกหมู่บ้านว่า สนามจั่น เรียกขานกันนานเข้าจึงเพี้ยนเป็นบ้านสนามจันทร์ ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์
ระหว่าง พ.ศ.2447 – พ.ศ. 2449 มีการปรับแก้ไขเขตของหมู่บ้าน และตำบลตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ รศ. 116 (พ.ศ. 2440) มาตรา 22 แนวทางการกำหนด เขตตำบล ดังนี้ “หลายหมู่บ้านรวมกันราว 10 หมู่บ้าน ให้จัดเป็นตำบล 1 ให้ผู้ว่าราชการเมืองปักหมายเขตรตำบลนั้นให้ทราบได้โดยชัดเจนว่าเพียงใด ถ้าที่หมายเขตรไม่มีลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือ สิ่งใด เป็นสำคัญได้ ก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองจัดให้มีหลักปักหมายเขตรอันจะถาวรอยู่ไปได้ยืนนาน”
หมายความว่าการกำหนดเขตตำบลให้ใช้ ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง เป็นแนวเขต ตำบลสนามจันทร์เมื่อก่อนนี้เข้าใจว่ามีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จึงถูกแบ่งเขตออกจากกัน โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นแบ่งเขต พื้นที่ทางฝั่งขวายังคงใช้ชื่อตำบลสนามจันทร์เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่มากกว่า ส่วนทางฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอตั้งชื่อใหม่ว่า ตำบลบ้านโพธิ์ มีหลักฐาน คือ โฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎรเมื่อ รศ. 125 (พ.ศ. 2449) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านโพธิ์แล้ว
เหตุที่ตั้งชื่อว่า บ้านโพธิ์ เนื่องจากถิ่นนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนวัดสนามจันทร์ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น ชาวบ้านมีความเคารพเพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเอาผ้าเหลืองห่มต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบ แบบเสือป่า เพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ
ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเขาดิน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2457 สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ เขาดินอยู่ชายแดนติดต่อกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน เมื่อ พ.ศ. 2402 ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ
ต่อมาปรากฏว่าเขาดินอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่ง จากเขาดินมาเป็น อำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบล เมื่อ พ.ศ. 2460 (ตามรายงานกิจการจังหวัดประจำปี 2401-2502) สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ
อาคารที่ว่าการอำเภอหลังแรกหลังคามุงจาก หลังต่อมาปลูกสร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้อง หันหน้าสู่แม่น้ำบางปะกง ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลบ้านโพธิ์ หลังที่ 3 ขยับเข้ามาสร้างริมถนนเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น แบบสมัยใหม่ ปัจจุบันได้รื้อหลังเก่า และก่อสร้างหลังใหม่ในที่เดิม ซึ่งจะทำการเปิดที่ว่าการหลังใหม่ ในวันที่ 15 มกราคม 2547 พร้อมทั้งเฉลิมฉลองในวาระที่อำเภอมีอายุครบ 100 ปีด้วย
ตั้งแต่ตั้งอำเภอมา มีนายอำเภอปกครองรวม 41 คน โจรผู้ร้ายที่ว่าชุมชุมก็หมดไป ชาวอำเภอบ้านโพธิ์ มีความเป็นอยู่ที่สงบสุข เรียบง่าย แม้ในปัจจุบันการทำมาหากินเปลี่ยนไปจากเดิม สภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ ความสำนึกรักบ้านเกิด และความกตัญญูต่อแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้บ้านโพธิ์มีความยั่งยืนตลอดไป
ตำบลบ้านโพธิ์

1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลบ้านโพธิ์ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ - กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลบ้านโพธิ์ ประมาณ 6.17 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบ้านโพธิ์
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองตีนนก
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสิบเอ็ดศอก
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลคลองบ้านโพธิ์
3. ลักษณะภูมิประเทศ

ตำบลบ้านโพธิ์
มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลบ้านโพธิ์อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบ้านโพธิ์ มูลเหตุที่ชื่อ “บ้านโพธิ์” นั้น สันนิษฐานว่าตั้งตามชื่อต้นไม้ในท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าว่า เดิมแถบนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป จึงนำมาเป็นชื่อตำบล โฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎร ใน รศ. 125 (พ.ศ. 2449) ก็ใช้ชื่อว่า “ตำบลบ้านโพธิ์” ส่วนอำเภอซึ่งตั้งใน พ.ศ. 2447 ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์
ตำบลบ้านโพธิ์นับว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ ถ้านับจากปีที่จัดตั้งวัดสนามจันทร์ พ.ศ. 2400 มีอายุมากกว่า 147 ปี ผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย และคนจีน นับถือศาสนาพุทธ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน คือ ศาลเจ้าพ่อโหรา และโรงเจ ไม่มีศาสนาอื่นในตำบลนี้ ปัจจุบันเป็นคนไทยสัญชาติไทยหมดแล้ว ประชาชนในชุมชนนี้มีอาชีพทำนา ทำการประมง เพราะดินดีเหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งทำนาได้เพียงปีละครั้ง ในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำบางปะกงเค็ม ทำให้น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ และยังเป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้ ปัจจุบันประชาชนหันมาเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ แทนการทำนา บางส่วนค้าขายเป็นตลาดชุมชนขนาดเล็ก ๆ เก่าแก่มีมานานแล้ว
ตำบลคลองบ้านโพธิ์
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลคลองบ้านโพธิ์ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลคลองบ้านโพธิ์ ประมาณ 8.91 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลสนามจันทร์
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบางซ่อน
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลบ้านโพธิ์
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลแสนภูดาษ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลคลองบ้านโพธิ์ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลคลองบ้านโพธิ์ ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองชลประทาน คือ คลองบ้านโพธิ์ และคลองต้นหมัน และยังมีคลองธรรมชาติอีกหลายคลอง มีเรื่องเล่าว่าคลองบ้านโพธิ์ เมื่อก่อนนี้มีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นอยู่ที่ปากคลอง ชาวบ้านจึงเรียกคลองนี้ว่า “คลองบ้านโพธิ์” และใช้เป็นชื่อตำบลด้วย
ตำบลคลองบ้านโพธิ์ เป็นชุมชนเก่ามากมีอายุถึง 226 ปี นับตั้งแต่ปีสร้างวัดบ้านโพธิ์ พ.ศ. 2323 ตรงกับสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย สภาพภูมิศาสตร์คล้ายกับตำบลบ้านโพธิ์ ขาดน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง สมัยก่อนชาวบ้านมีความสามัคคีช่วยกันทำทดปิดกั้นน้ำเค็ม เก็บกักน้ำจืดไว้ใช้ตามลำคลอง ประมาณเดือน 7-8 น้ำจืดก็จะช่วยกันเปิดทดให้น้ำไหลเข้านา ยามใดมีข่าวลือว่าโจรจะมาปล้นบ้าน ก็จะตั้งเวรยามเฝ้าระวังภัย นับว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมากในอดีต ราษฎรมีอาชีพทำนา ปัจจุบันลดการทำนาหันไปประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา อาชีพอีกอย่างหนึ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ คือ การทำสวนจาก ริมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งไม่ต้องลงทุนมากมีมีดพร้าเล่มเดียวก็ทำได้ จากมีประโยชน์มากใบจากใช้มุงหลังคา และใช้ห่อขนมเรียกว่าขนมจาก ลูกจากทำเป็นของหวานได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันตลิ่งพัง และเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น ปู ปลาเล็กปลาน้อย เป็นการรักษาระบบนิเวศที่ดีอีกด้วย
ตำบลบางซ่อน


1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลบางซ่อน ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 7 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลบางซ่อน ประมาณ 5.92 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองบ้านโพธิ์
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลหนองตีนนก
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางปะกง
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลบางซ่อน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลบางซ่อน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอบ้านโพธิ์ เป็นตำบลชายแดน คำว่า “บางซ่อน” ซึ่งเป็นชื่อของตำบล จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่พอสรุปที่มาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก เนื่องจากในสมัยก่อนคนในตำบลนี้ใช้ควายในการประกอบอาชีพกันทุกบ้าน เวลานำควายไปใช้งาน ต้องเดินทางเป็นระยะไกลผ่านแนวต้นลำพูและป่าจากที่รกทึบและคดเคี้ยวมาก กล่าวกันว่าต้องใช้เวลาเดินทางนานนับชั่วโมง เดินไปเดินมานานเข้าจึงเกิดเป็นร่องน้ำลึกและคดเคี้ยว ประกอบต้นลำพูและต้นจากยังเป็นแนวทึบ ทำให้เสียงพูดคุยกันของเจ้าของควายฟังแล้วเหมือนอยู่ใกล้ ๆ แต่ความจริงแล้วต้องใช้เวลาเดินนานจึงจะไปถึงเจ้าของเสียง จึงเป็นที่มาของตำบล “บางซ่อน”
ประเด็นที่สอง เนื่องจากตำบลบางซ่อนเป็นตำบลชายแดน มีภูมิประเทศเป็นป่ารกทึบ มีคลองคดเคี้ยวไปมาเหมาะแก่การซ่อนตัวของผู้ร้าย ซึ่งหลบหนีมาจากเขตอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียง จึงเรียกดินแดนนี้ว่า “บางซ่อน”
ตำบลท่าพลับ
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลท่าพลับ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 4 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลท่าพลับ ประมาณ 6.62 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลบางกรูด
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลสนามจันทร์
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลหนองบัว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลคลองประเวศ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลท่าพลับ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลท่าพลับ ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง เป็นชุมชนเก่าแก่มากแห่งหนึ่ง หากนับอายุจากการตั้งวัดบางกรูด พ.ศ. 2304 ถึงปัจจุบันจะมีอายุ 243 ปี ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทางการเกษตร มีโรงหีบอ้อย โรงสีไฟเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงสีกลาง แห่งหนึ่ง และโรงสีล่าง หรือโรงสีพระยาสมุทรอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ส่งไปยังกรุงเทพฯ และต่างประเทศ โดยใช้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จำนวนมาก ส่วนริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลบางกรูด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามก็มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำและมีโรงเลื่อยอีกด้วย ฉะนั้นริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงทั้งสองฝั่งในบริเวณนี้ จึงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่ใหญ่มาก ปัจจุบันได้เลิกล้มไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยที่เป็นอิฐหักของปล่องโรงสีและคำเล่าขานกันมาเท่านั้น
ชื่อตำบลท่าพลับ สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายต้นตะโก ผลรับประทานได้ บางคนเรียกว่า ต้นมะพลับ ผลดิบ เอายางมาย้อมสวิง แห อวน ได้ ประกอบกับผืนดินของตำบลนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง มีท่าเรือใช้ในการสัญจรไปมามาก จึงเรียกชื่อตำบลว่า “ตำบลท่าพลับ” ชื่อตำบลนี้มีปรากฏในหน้าโฉนดที่ดินของวัดบางกรูด ซึ่งออกให้เมื่อ รศ. 125 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2449 ในครั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์
ตำบลสิบเอ็ดศอก
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลสิบเอ็ดศอก ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 15 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลสิบเอ็ดศอก ประมาณ 20.88 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลดอนทราย
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลแหลมประดู่
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบ้านโพธิ์
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลสิบเอ็ดศอก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลสิบเอ็ดศอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านโพธิ์ ความเป็นมาของชื่อตำบล มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีวังน้ำกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า วังตายก รอบ ๆ วังน้ำเป็นป่าจาก คนจีนมีอาชีพตัดจากขาย ได้สร้างบ้านอยู่บริเวณชายฝั่งวันน้ำนี้ อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากได้ตัดยอดจากเพียงพอแล้วก็เดินทางกลับบ้าน ขณะที่เดินทางเข้ามาใกล้บ้านพบจระเข้ตัวใหญ่ นอนอ้าปากขวางทางอยู่ ด้วยอาการตกใจ จึงเอายอดจากที่ตัดมาพุ่งเข้าไปในปากจระเข้ และตีซ้ำ จนจระเข้ตาย วัดความยาวของจระเข้ได้ 11 ศอก เป็นที่เลื่องลือของคนทั่วไป และสถานที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า “บ้านสิบเอ็ดศอก” บางคนเล่าว่าเคยเห็นศาล และมีซากหัวจระเข้วางอยู่ด้วย

ตำบลคลองขุด
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลคลองขุด ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 12 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลคลองขุด ประมาณ 15.04 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบางคล้า
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแหลมประดู่
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอแปลงยาว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสิบเอ็ดศอก
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลคลองขุด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลคลองขุด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอบ้านโพธิ์ การคมนาคมในสมัยโบราณถ้าเป็นระยะทางใกล้ก็ใช้การเดินเท้า หากระยะไกลใช้ม้าเป็นพาหนะ ในฤดูน้ำหลากก็ใช้เรือพายเรือแจวสัญจรไปมาค้าขายซึ่งกันและกัน เมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป มีถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน การเดินทางใช้รถซึ่งนับว่าสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เดิมชาวตำบลคลองขุดมีอาชีพทำนา มีทั้งนาหว่านและนาดำ แต่ตอนนี้หันมาประกอบอาชีพ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงสุกร เลี้ยงวัว อาชีพทำนายังคงมีอยู่บ้าง
ความเป็นมาที่น่าสนใจเหตุที่ใช้ชื่อว่าตำบลคลองขุด เนื่องจากด้านทิศเหนือติดต่อกับลำคลองที่จ้างชาวจีนขุด และให้คนที่ไม่เสียส่วยขุดคลองใช้แรงงานแทนเงิน จึงเรียกว่า คลองขุด และนำมาเป็นชื่อของตำบล
ตำบลแหลมประดู่
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลแหลมประดู่ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 16 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลแหลมประดู่ ประมาณ 19.268 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองขุด
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอแปลงยาว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสิบเอ็ดศอก
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลแหลมประดู่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ดอน และมีป่าไม้
4. ประวัติความเป็นมา

ตำบลแหลมประดู่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านโพธิ์ เมื่อประมาณ 100 ปี ล่วงมาแล้ว บริเวณนี้ยังคงเป็นป่าทึบ มีต้นไม้มากมายหลายชนิด ที่มีมากที่สุด คือ ต้นประดู่ จะขึ้นทึบและเหยียดยาวเป็นหลายแหลม ต่อมาถูกตัดโค่นลง ชาวบ้านออกไปไถนา พบตอประดู่เป็นจำนวนมาก ต้องขุดออก เดี๋ยวนี้ไม่เหลือให้เห็นอีกแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “แหลมประดู่” และตั้งชื่อตำบลว่า “แหลมประดู่” เช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน ตำบลแหลมประดู่ มีคลองชลประทานไหลผ่าน ส่งน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำระบม และอ่างสียัด ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ประชาชนได้รับประโยชน์ทั่วกัน
ตำบลสนามจันทร์
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลสนามจันทร์ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลสนามจันทร์ ประมาณ 12.01 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองประเวศ
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลคลองบ้านโพธิ์
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอบ้านโพธิ์
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลลาดขวาง
3. ลักษณะภูมิประเทศ

ลุงหนวด
Power Membership
Power Membership
โพสต์: 4406
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 12 ธ.ค. 2014 12:01 pm

Re: ข้อมูล อำเภอ บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา

โพสต์โดย ลุงหนวด » เสาร์ 01 ก.ย. 2012 6:25 pm

ตำบลสนามจันทร์ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลสนามจันทร์ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอบ้านโพธิ์ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ สมัยโบราณมีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ดุร้ายอาศัยอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะเสือ มักออกไปลักเป็ด ไก่ กินเป็นอาหาร บางครั้งก็กัดคนก่อความเดือดร้อน ให้กับประชาชนเป็นอันมาก ทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปปราบเสื้อ โดยให้จั่นดักเสือหลายจั่น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่าเป็นบริเวณ “สนามจั่น” บางคนก็พูดว่า ทำจั่นไว้ “สามจั่น” ต่อมาทางราชการได้กำหนดการปกครองหัวเมือง แบ่งมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สนามจั่น” หรือสามจั่น ก็เพี้ยนเป็น “สนามจันทร์” และเป็นชื่อเรียกตำบลตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ตำบลแสนภูดาษ
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลแสนภูดาษ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 10 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลแสนภูดาษ ประมาณ 11.42 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลลาดขวาง
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลบางซ่อน
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลคลองบ้านโพธิ์
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางปะกง
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลแสนภูดาษ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลแสนภูดาษ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ชื่อของตำบลนี้เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ราบลุ่มชายเลน มีต้นลำพูขึ้นอยู่มากมาย ที่บริเวณโคนต้นจะมีหน่อลำพูแตกออกมาอยู่ใต้ดินและบนดินอย่างเนืองแน่น เวลาน้ำขึ้นในคืนเดือนหงาย พระจันทร์เต็มดวง จะมองเห็นหน่อลำพูที่โผล่พ้นน้ำมีสีค่อนข้างขาวดื่นดาษไปหมด นับเป็นแสน ๆ หน่อ ชาวบ้านจึงหยิบยกเอาธรรมชาติที่เป็นจุดเด่น สวยงาม ไม่มีที่ใดเหมือนตั้งชื่อเป็นตำบลว่า “ตำบลแสนภูดาษ” คำว่า “ภู” นั้น ในสมัยโบราณการเขียนหนังสือไทยไม่ค่อยเข้มงวดกวดขันเท่าไรนัก มุ่งแต่เพียงให้อ่านออกก็พอแล้ว คำที่ถูกต้องต้องเขียนว่า “พู” เพราะมาจากคำว่า “ลำพู” หมายถึง ต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นในที่น้ำกร่อย
ตำบลลาดขวาง
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลลาดขวาง ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 8 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลลาดขวาง ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลคลองประเวศ
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแสนภูดาษ
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสนามจันทร์
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางประกง
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลลาดขวาง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลลาดขวาง ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ชาวตำบลลาดขวางเป็นชุมชนดั้งเดิมไม่มีการอพยพของประชากรมาจากที่อื่น นับถือศาสนาพุทธ ถ้านับจากปีที่ตั้งวัดพิพิธประสาทสุนทร พ.ศ. 2400 ชุมชนนี้มีอายุมากกว่า 147 ปี ประชากรส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองลาดขวางทั้งสองฝั่ง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลัก
จากคำบอกเล่าของพระพรหมคุณาภรณ์ (หลวงปู่เจียม กุลละวณิชย์) สรุปได้ว่า มูลเหตุที่ชื่อลาดขวาง เพราะมีทางลาดลงมาขวางลำคลองอยู่ตอนหนึ่งเป็นทางสำหรับกระบือเดินลงไปกินน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านลาดขวาง และนำมาเป็นชื่อของตำบล
ตำบลคลองประเวศ
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลคลองประเวศ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 10 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลคลองประเวศ ประมาณ 12.24 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลลาดขวาง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสนามจันทร์
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลเทพราช
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลคลองประเวศ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลคลองประเวศ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ตั้งชื่อตามชื่อคลองซึ่งขุดแยกจากคลองพระโขนง ชาวบ้านเรียกว่า คลองท่าถั่ว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “คลองประเวศบุรีรมย์” จึงใช้ชื่อคลองเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบล
ตำบลหนองตีนนก


1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลหนองตีนนก ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 4 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลหนองตีนนก ประมาณ 15.08 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบ้านโพธิ์
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสิบเอ็ดศอก
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลบ้านโพธิ์
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลหนองตีนนก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลหนองตีนนก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อตำบลหนองตีนนก สันนิษฐานว่า เดิมบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมมีหนองน้ำใหญ่ สัตว์น้ำชุกชุม พวกนกพากันมาหาอาหารกินเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในฤดูแล้งจึงเห็นรอยตีนนกเต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้าน จึงเรียกว่า “หนองตีนนก” และใช้เป็นชื่อตำบล หนองน้ำนี้ยังมีร่องรอยให้เห็น อยู่ทางทิศเหนือของโรงเรียนลาดหนองตีนนก (ยุบเลิกไปแล้ว)
ตำบลเทพราช
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลเทพราช ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 15 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลเทพราช ประมาณ 16.87 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอบางปะกง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลคลองประเวศ
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลเทพราช มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลเทพราช ตั้งอยู่สองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ ตำบลเทพราชไม่ปรากฏว่ามีมาแต่สมัยใดทั้งสาเหตุที่ได้ชื่อว่า “เทพราช” คนชราเล่าสืบต่อกันมาว่าก่อนปี พ.ศ. 2420 พระยาประเวศบุรีรมย์ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่กองคุมคนจีนขุดคลองเชื่อมแม่น้ำ สองสาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาตรงพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกงตรงท่าถั่ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือและการชลประทานช่วยในการเกษตร คลองที่ขุดมีขนาดกว้าง 4 วา ขุดตามวิถีกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงไป สองฝั่งคลองมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง น้ำไหลเซาะดินริมฝั่งคลองพังทลาย หญ้าแขมขึ้นปกคลุมสร้างความเดือดร้อนกับผู้สัญจรไปมา ในปี พ.ศ. 2420 พระยาราชโกษา เมื่อยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระ” ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่กองคุมคนจีนขุดคลองสายนี้อีกครั้งหนึ่งและได้ชื่อ ต่อมาว่า “คลองประเวศบุรีรมย์” ตามบรรดาศักดิ์ของพระยาประเวศบุรีรมย์
เมื่อทางราชการขุดคลองประเวศบุรีรมย์เสร็จได้ 4 ปี แขวงกลั่น มีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นบุรีรักษา (ต้นสกุลกลั่นเจริญ) ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านใหญ่บางปรง คลองบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ย้ายครอบครัวมาอยู่ในนาของตนริมฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณปากคลองแขวงกลั่น (หมู่ 2 ปัจจุบัน)
ขณะนั้นขุนเทพราช ซึ่งเป็นผู้ดูแลอยู่ในเขตนี้ ร่วมกันชักชวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงสองฝั่งคลองสร้างวัดขึ้นใน ปี พ.ศ. 2424 เพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลโดยตาวัน อุทิศถวายที่ดิน พื้นที่บริเวณที่สร้างวัดมีลักษณะเทลาด และผู้ดูแลท้องที่มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเทพราช เมื่อสร้างวัดเสร็จให้ชื่อว่า “วัดเทพราช” แขวงกลั่นได้อาราธนาพระอาจารย์อนุเทศแห่งวัดบางปรงมาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาหมู่บ้านมากขึ้นขยายเป็นตำบลให้ชื่อว่า “ตำบลเทพราช” ตามชื่อวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน
ตำบลเกาะไร่
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลเกาะไร่ ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 17 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลเกาะไร่ ประมาณ 12.01 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลเทพราช และอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
- ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลเกาะไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลเกาะไร่ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ล้อมรอบด้วยคลอง ได้แก่ คลองแขวงกลั่น จระเข้น้อย แพรกนกเอี้ยง บางเรือน ประเวศบุรีรมย์ หลอดหวังปิ้ง และหลอดตาเกด พื้นที่เป็นที่ราบ น้ำท่าบริบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก จึงมองดูเหมือนเกาะกลางน้ำ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “เกาะไร่”
ตำบลหนองบัว
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลหนองบัว ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 7 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลหนองบัว ประมาณ 6.81 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบางคล้า
- ทิศใต้ ติดกับ อำเภอบ้านโพธิ์
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลดอนทราย
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลท่าพลับ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลหนองบัว มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลหนองบัว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอบ้านโพธิ์ เดิมประชากรมีอาชีพทำนาเป็นหลัก สมัยนั้นใช้ควายไถนา อุปกรณ์ทำนา เช่น ไถ คาด ระหัด ชังโลง ลูกทุบ กังหัน เลื่อน ชาวบ้านทำขึ้นใช้เอง นอกจากทำนา แล้วยังเลี้ยงไก่ เป็ด หมู ไว้เป็นอาหารและขาย ชาวหนองบัวไปซื้อขายกันที่ตลาดโรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ โดยบรรทุกเรือพายไปตามคลองหนองบัว ต่อมาการคมนาคมเปลี่ยนไปเป็นใช้รถมีการทำถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงปลา แทนการทำนา อาชีพเดิมที่ยังเหลืออยู่ คือ สานตะข้อง รอบ สุ่ม ตุ้ม อีจู้ จำหน่าย
ชื่อตำบลหนองบัว สันนิษฐานว่ามีมูลเหตุมาจากพื้นที่ราบลุ่มเป็นบึง หนอง และมีบัวต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะบัวสีแดง จึงตั้งชื่อตำบลว่า “หนองบัว” ชุมชุนหนองบัวมีอายุ 104 ปี นับจากสร้างวัดดอนสีนนท์ พ.ศ. 2442 เดิมวัดนี้ชื่อ “ดอนสีนวล” ตั้งตามนิมิตเห็นดินเป็นสีนวลของผู้สร้างวัด เรียกขานกันต่อมาเพี้ยนเป็น “ดอนสีนนท์” สมัยเจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสีนันทาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมจึงเปลี่ยนกลับมาเป็นวัดดอนสีนนท์เหมือนเดิม
ตำบลดอนทราย
1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลดอนทราย ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 8 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลดอนทราย ประมาณ 11.76 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอบางคล้า
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลสิบเอ็ดศอก
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลคลองขุด
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลหนองบัว
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลดอนทราย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลดอนทราย เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีวัดดอนทรายเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับถึงปัจจุบันอายุ 134 ปี เดิมประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบ มีน้ำเพียงพอในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันประชาชนลดการทำนาลง หันไปประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้ง ปลา สุกร ไก่และทำงานโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
คำว่า “ดอนทราย” เป็นชื่อของหมู่บ้าน และตำบล สันนิษฐานว่า เป็นการตั้งชื่อจากธรรมชาติของพื้นที่หมู่บ้านดอนทราย เป็นพื้นที่ดอน สูงกว่าหมู่บ้านอื่น และมีทรายสีขาวนวลอยู่ใต้ดิน เวลาทำบุญเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะขุดดินบริเวณรอบวัด ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้นำทรายไปก่อพระเจดีย์ทรายรอบโบสถ์ พร้อมทั้งประดับธงสีต่าง ๆ สวยงาม เป็นประเพณีที่ปฏิบัติติดต่อกันมา ชื่อตำบลดอนทราย มีมาช้านานตั้งแต่ตั้งชุมชนไม่มีการเปลี่ยนแปลง หลักฐานที่ปรากฏ นอกจากชื่อวัดแล้ว ยังมีชื่อตำบลดอนทราย ปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดินของประชาชนชาวดอนทราย เมื่อครั้งอำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อ อำเภอสนามจันทร์ อีกด้วย
ตำบลบางกรูด

1. ที่ตั้งและขนาด
- ระยะทางจากตำบลบางกรูด ถึง อำเภอบ้านโพธิ์ ประมาณ 6 กิโลเมตร
- จำนวนพื้นที่ของตำบลบางกรูด ประมาณ 5.95 ตารางกิโลเมตร
2. อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลท่าพลับ
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลหนองบัว
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลคลองประเวศ
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลบางกรูด มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ
4. ประวัติความเป็นมา
ตำบลบางกรูด ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงไก่ เลี้ยงสุกร และค้าขาย มีวัด 2 วัด ได้แก่ วัดผาณิตราม และวัดมงคลโสภิต
ตำบลบางกรูด มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สภาพเดิมเป็นป่า มีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง คือ ต้นมะกรูดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตมีอาณาเขตของตำบลครอบคลุมไปถึงหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดบางกรูด การตั้งชื่อตำบล สันนิษฐานว่า ตั้งตามชื่อต้นไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
ใน อดีต ตำบลบางกรูด โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ มีโรงสีเครื่องจักรไอน้ำ โรงเลื่อยแปรรูปไม้ และโรงงานประกอบบ้านทรงไทยขายเป็นหลัง ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว ส่วนโรงสียังคงมีปล่องสูงตระหง่านริมฝั่งแม่น้ำเหนือทิวจาก ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจความเจริญของท้องถิ่นที่ผ่านมา

ที่มา: http://www.chachoengsao.go.th


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 42 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน