มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีผลต่อGDP

พูดคุยเรื่อง ที่อยู่ ที่พักอาศัย บ้าน คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม อพาร์ทเมนท์ ที่อยู่อาศัย กำลังจะซื้อ หรือซื้อแล้ว พูดคุยเรื่องที่อยู่ของตัวเองกันได้ที่นี่ จะปลูกต้นไม้ จัดสวน หรือการดูแล รักษาบ้านเรา ปรึกษาเพื่อนๆ ได้

Moderator: ลุงหนวด

แอนนา

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีผลต่อGDP

โพสต์โดย แอนนา » พฤหัสฯ. 30 มิ.ย. 2016 9:18 am

ส่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตัวแปร GDP: ช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร?
ภาวะการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ขยายตัวลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จากการส่งสัญญาณด้านการส่งออกที่ซบเซาอันเนื่องจากปัญหาของประเทศคู่ค้าที่สำคัญหลายประเทศที่ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เริ่มเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2558 น่าจะเป็นไปตามที่สำนักเศรษฐกิจหลายสำนักทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งพยากรณ์/คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 น่าจะขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 3 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าระดับการขยายตัวศักยภาพ (potential growth) ที่น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3-3.5 และหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมาเพื่อช่วยให้กำลังซื้อในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวในปี 2559 ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 2.5-3.7[1] ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมาเมื่อ 1 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา จึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่ามาตรการเหล่านั้นจะส่งผ่านตัวแปรที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างไร หากวิเคราะห์แนวคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พบว่าแต่ละมาตรการถูกพิจารณาผ่านกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนด้วยตัวแปรหรือองค์ประกอบที่สำคัญของ GDP (Gross Domestic Product) ดังนี้

1) กลยุทธ์การสร้างกำลังซื้อ หรือสร้างอุปสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค (หรือตัว C =consumption ใน GDP) โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับตัว C ในที่นี้ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคเกษตร และมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท[2] เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในจังหวัด มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หรือมีเงินหมุนเวียนขึ้นในระบบเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานที่มีผู้มีรายได้น้อยเป็นกำลังแรงงาน เมื่อผู้มีรายได้น้อยมีงานทำก็จะมีการซื้อสินค้าและบริการเกิดขึ้น หรือตัว C ใน GDP เกิดการขยายตัว และยังมีผลต่อเนื่องถึงการสร้างการลงทุน (I= investment) ในการผลิตสินค้าและบริการตามมา

2) กลยุทธ์การสร้าง/กระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ (หรือตัว I =investment ใน GDP) นอกเหนือจากมาตรการกองทุนฯระดับตำบลเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้มีรายได้น้อยที่ก่อให้เกิดการลงทุนตามมาแล้ว ยังมีมาตรการกระตุ้นการลงุทนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชน (กองทุนฯ) เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยการให้สินเชื่อกองทุนฯละไม่เกิน 1 ล้านบาท[3] มาตรการนี้เพื่อมุ่งเน้นให้หมู่บ้านในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้เกิดกับชุมชน อีกทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งมาตรการนี้ดำเนินการภายใต้งบประมาณของภาครัฐ หรือเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ (หรือตัว G =government spending ใน GDP)

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ได้ดำเนินการประเมินโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะ 3 เดือนแรก ของปี 2557 ที่ขอใช้เงินสนับสนุนที่เป็นเงินกู้ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ พบว่า โครงการขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนไม่มากจะสามารถดำเนินการภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ผลมากกว่าโครงการขนาดใหญ่ที่มักจะติดด้านเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้ระยะเวลาและปัญหาอุปสรรคในทางปฎิบัติที่ค่อนข้างดำเนินการได้ล่าช้า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้มาตรการชุดใหม่ของรัฐบาลจึงเป็นแนวทางที่ดีแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตัว I เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาที่ค่อนข้างจะเห็นผล เช่น โครงการขุดคลอง/เรียงหินที่เป็นโครงการขนาดเล็กของชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้มีการจ้างแรงงานเกษตรกรที่มีปัญหาการทำนาในภาวะฝนแล้ง ทำให้มีรายได้จากค่าแรงชดเชยรายได้จากการทำนา เป็นต้น

3) กลยุทธ์การผลักดันการส่งออกผ่านสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) แม้ว่าการส่งออกสินค้า OTOP จะยังคงเป็นปัญหาที่ชะงักงันมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การส่งออก (หรือตัว X = export ใน GDP) ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ

ตัวแปรหนึ่งที่รัฐบาลยุคปัจจุบันได้หยิบยกมาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับมาพิจารณาส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

โดยสรุป จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการกระตุ้นตัวแปรที่เป็นองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจไทยผ่านมาตรการกระตุ้นที่ครบถ้วนโดยเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อหรือการสร้างอุปสงค์ด้านการอุปโภคบริโภค ด้านการลงทุน ด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการส่งออก ตามหลักเศรษฐศาสตร์ GDP = C+I+G+ (Net Export หรือ X-M) นั่นเอง ซึ่งหากวิเคราะห์ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว แน่นอนว่าการใช้มาตรการกระตุ้นผ่านตัวแปรเหล่านี้ในที่สุดน่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้แต่อาจจะต้องส่งผลในปี 2559 ซึ่งจะเป็นไปตามการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยของหลายสำนักวิชาการที่คาดว่า ปี 2559 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 2.5-3.7 ได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการติดตามวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นระยะๆโดยเฉพาะการประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้มาตรการการคลังผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่รัฐบาลดำเนินการผ่านมาตรการทางภาษีซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป

ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 30 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน