หลักการเลือกพันธุ์สะตอ การใช้สารป้องกันอย่างเหมาะสม การดูแล

รวมความรู้ ทิป และเทคนิคทั่วไป
Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

หลักการเลือกพันธุ์สะตอ การใช้สารป้องกันอย่างเหมาะสม การดูแล

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 5:31 pm

หลักการเลือกพันธุ์สะตอ การใช้สารป้องกันอย่างเหมาะสม การดูแล
สะตอ.jpg
สะตอ

1. ผลิตสะตอที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

1.1 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช เน้นการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน เช่น วิธีกล วิธีการเขตกรรม วิธีชีวภาพ รวมทั้งวิธีใช้สารเคมี ทั้งนี้ให้พยายามใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด(รายละเอียดชนิดศัตรูพืช ลักษณะการทำลาย วิธีการป้องกันกำจัด

1.2 การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม ควรปฏิบัติดังนี้
- ห้ามใช้สารเคมีที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 รายชื่อวัตถุอันตรายห้ามใช้ในการเกษตร และต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการสารเคมีที่ประเทศคู่ค้าอนุญาต
- ให้เลือกใช้ในชนิด อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบเครื่องพ่นสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา เพื่อป้องกันสารพิษเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายของผู้พ่น
- สวมเสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากากหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ หมวก และรองเท้า
- เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ควรพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ต้องหยุดใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนเก็บเกี่ยวตามเวลาที่ระบุตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิทเมื่อเลิกใช้ และเก็บในสถานที่เก็บสารเคมีที่มิดชิด และปลอดภัย
- หลังการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เสื้อผ้าที่ใส่ขณะพ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้ง
- ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดและล้างสารเคมีออกหมดตามคำแนะนำ ต้องไม่นำกลับ มาใช้อีกและต้องทำให้ชำรุดเพื่อป้องกันการนำกลับมาใช้อีก แล้วนำไปทิ้งในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีโดยเฉพาะ หรือทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาทำลาย
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง

Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

Re: หลักการเลือกพันธุ์สะตอ การใช้สารป้องกันอย่างเหมาะสม การดูแล

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 5:31 pm

2 การเตรียมพันธุ์และปฏิบัติดูแลรักษาแปลงปลูกสะตอ
2.1 พันธุ์สะตอ พันธุ์ที่พบสามารถจำแนกเป็น2 พันธุ์หลัก ได้แก่ สะตอข้าวและสะตอดาน

หลักการคัดเลือกพันธุ์
- ต้องมีการออกฝักทุกปี ติดฝักดี จำนวนช่อต่อต้นมาก จำนวนฝักต่อช่ออย่างน้อย 10-15 ฝัก
- ควรมีการให้ฝักช่วงต้นฤดู เพราะผลผลิตจะได้ราคาดี
- ให้ฝักยาว สวย เมล็ดวางตัวได้สัดส่วน จำนวนอย่างน้อย 15-20เมล็ดต่อฝักเมล็ดแน่น
- รสชาติมันกลมกล่อม อร่อย กลิ่นไม่ฉุนมากเกินไป เป็นที่ต้องการของตลาด
- ต้นสมบูรณ์ มีความต้านทานโรคและแมลงดี
- ลำต้นสวยงาม (หากเป็นไปได้) เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ (ทำเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน) เมื่อมีอายุมาก เป็นการสร้างรายได้เพิ่มแก่ผู้ปลูก

2.2 การปฏิบัติดูแลรักษาแปลงปลูกสะตอ

- การให้น้ำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นสม่ำเสมอ สะตอที่ปลูกใหม่ในปีแรกควรให้น้ำวันเว้นวันในช่วงแล้ง และควรหาเศษพืชคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น เมื่ออายุ 2-3 ปี ควรให้น้ำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับต้นสะตอที่ให้ผลแล้วระยะที่ต้องการน้ำมากคือช่วงระยะออกดอก ติดฝัก จนถึงเก็บเกี่ยว ในช่วงฤดูฝนควรทำช่องระบายน้ำให้ด้วย

- การพรวนดิน ควรทำตั้งแต่เริ่มปลูกเป็นต้นไป ปีละประมาณ 3 ครั้ง เพื่อช่วยกำจัดวัชพืช ไข่แมลง และเป็นการถ่ายเทอากาศในดินสำหรับสะตอที่ให้ผลแล้วควรพรวนดินช่วงก่อนออกดอกและ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

- การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ควรใส่ตั้งแต่เริ่มปลูก อัตรา 1-2 บี๊บต่อต้น เมื่อให้ผลแล้วควรใส่อัตรา 3-4 ปิ๊บต่อต้น โดยใส่หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว จะทำให้ต้นสะตอสมบูรณ์และให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

ปุ๋ยเคมี ช่วงที่สะตอยังไม่ให้ผลผลิตควรใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ในอัตรา(กิโลกรัม) ครึ่งหนึ่งของอายุต้นสะตอ และควรแบ่งได้ 2 ครั้งใน 1 ปี คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม และตุลาคม ควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย 1-2 บุ้งกี๋ ส่วนในสะตอที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ก่อนออกดอกและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว และควรเพิ่มอัตราการใส่ตามอายุของต้นสะตอ โดยเพิ่มปีละ 0.5 กิโลกรัม และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย

- การตัดแต่งกิ่ง ควรทำหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เพื่อกำจัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งแห้ง กิ่งตาย กิ่งเบียด กิ่งที่มีแมลงทำลายหรือกิ่งที่ไม่ได้แสงแดด ทำให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้นส่วนการตัดยอดจะกระทำในช่วงเริ่มปลูกสะตอ ในขณะที่ต้นสะตอมีความสูงประมาณ 2-3 เมตร เพื่อบังคับให้มีการแตกพุ่มเตี้ย ง่ายในการเก็บเกี่ยว

3. การจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวมีคุณภาพ

3.1 อายุการเก็บเกี่ยวที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว สะตอทั้ง 2พันธุ์ จะเริ่มออกดอกประมาณเดือนเมษายนเป็นต้นไป และเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ใช้ระยะเวลาประมาณ 68-70 วัน ในช่วงปีแรกให้ผลผลิตประมาณ 200-300 ฝักต่อต้น และเพิ่มขึ้นทุก ๆปี ตามอายุของต้น

3.2 ลักษณะฝักสะตอที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว
- สีของฝักจะมีลักษณะเป็นมันวาว เขียวเข้ม เปลือกบริเวณหุ้มเมล็ดจะนูนเห็นเส้นใยชัดรูปทรงสะดุดตา
- เปลือกหุ้มเมล็ดเมื่อแกะออกดูด้านในที่บริเวณขั้วของเปลือกจะเห็นเป้นสีส้มเข้มเล็กน้อย
- ชิมเมล็ดดูในสะตอข้าวจะมีรสชาติค่อนข้างหวาน ส่วนสะตอดานรสชาติจะฉุน เมล็ดแน่น

3.3 วิธีการเก็บเกี่ยว
- ใช้ไม้สอย โดยใช้ไม้ไผ่ยาว ทำเว้าที่ปลาย และผูกเชือกติดไว้สอดเชือกเข้าระหว่างกลางช่อฝักสะตอ บิดไม้เข้าหาตัวให้ช่อสะตอหลุดออก จากข้อส่วนบนของช่อ
- ใช้ลิงเก็บ วิธีนี้ใช้กับสะตอที่ให้ฝักรุ่นเดียวกันเกือบทั้งต้น เพราะลิงจะเก็บทุกฝักและโยนลงมา ต้องหาผ้าสำหรับรับฝักด้วยเพื่อกันกระแทก

4. การเก็บรักษาผลผลิตและการแปรรูปผลผลิต
การดอง เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และทำให้รสชาติของอาหารแปลกออกไปจนเป็นที่นิยมรับประทานการดองอาจทำได้ทั้งการดองทั้งเปลือกและแกะเมล็ดออกมาดอง โดยทั่วไปหากสะตอที่จะนำมาดองแก่จัดเมล็ดโตแน่นจะนิยมแกะเมล็ดมาดอง แต่ถ้าเป็นสะตอที่ยังไม่แก่เต็มที่หรือมีเมล็ดไม่ค่อยโตดีก็จะนิยมนำมาดองทั้งเปลือก การดองสะตอทั้งเปลือกอาจดองทั้งช่อ ดองเป็นฝักหรือนำเฉพาะฝักมาหั่นเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 3-6 นิ้ว เฉือนขอบฝักออกแล้วนำไปดองก็ได้ โดยทั้งการดองทั้งเปลือกหรือการแกะเมล็ดดองก็สามารถทำได้ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ
1. นำสะตอที่ต้องการดองมาต้มหรือลวกพอสุก (ทั้งเปลือก) ตักขึ้นจากหม้อต้มพักไว้
2. ต้มน้ำเกลือให้พอเดือด ปริมาณที่ใช้ให้พอเหมาะตามจำนวนสะตอที่จะดอง ทิ้งไว้ให้เย็นใส่ในภาชนะหมัก เช่น ไห หม้อเคลือบ
3. หากเป็นการดองสะตอทั้งเปลือกก็ใส่สะตอลงไปได้เลย แต่ถ้าดองเฉพาะเมล็ดให้แกะเมล็ดจากฝักที่ลวกแล้ว เลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่คุณภาพดี แกะและล้างเมือกออกด้วยน้ำสะอาดประมาณ 3 ครั้ง นำขึ้นวางบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ แล้วจึงใส่ลงดอง ไม่นิยมลวกเมล็ดสะตอโดยตรงเพราะจะทำให้เปื่อยเกินไปทีจะใช้ดอง
4. ในการดองสะตอทั้ง 2 ชนิดสังเกตดูให้น้ำเกลือพอปริ่มสะตอเท่านั้น ไม่ควรน้อยหรือมากเกินไป ทิ้งไว้ประมาณ 3 คืน จึงใช้ได้
5. เพื่อปรุงแต่งรสชาติของสะตอดองเวลาหมักอาจมีการใส่ส้มแขกเปลือกชะมวงลงไปด้วยจะได้สะตอดองที่มีรสออกเปรี้ยว หรืออาจใส่น้ำซาวข้าวและน้ำตาลลงไปก็จะได้สะตอดองที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน

pantip
Sr. Member
Sr. Member
โพสต์: 472
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 25 มิ.ย. 2016 12:50 am
ติดต่อ:

Re: หลักการเลือกพันธุ์สะตอ การใช้สารป้องกันอย่างเหมาะสม การดูแล

โพสต์โดย pantip » เสาร์ 20 พ.ค. 2017 2:42 am

ชอบเลยครับ


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 57 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน