การปลูกฟักทอง การใช้ปุ๋ย พันธุ์ฟักทอง การเตรียมดิน ปุ๋ย การใช้สารเคมีต่างๆ

รวมความรู้ ทิป และเทคนิคทั่วไป
Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

การปลูกฟักทอง การใช้ปุ๋ย พันธุ์ฟักทอง การเตรียมดิน ปุ๋ย การใช้สารเคมีต่างๆ

โพสต์โดย Sunflower_Man » เสาร์ 14 ก.ค. 2012 12:43 pm

การปลูกฟักทอง การใช้ปุ๋ย พันธุ์ฟักทอง การเตรียมดิน ปุ๋ย การใช้สารเคมีต่างๆ
ฟักทอง.jpg
ฟักทอง

1. การจัดการเพื่อการผลิตฟักทองที่ปลอดภัย

ฟักทอง เป็นพืชผักที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลแตง (Cucurbitaceae) ซึ่งได้แก่ ฟักทอง แตงกวา แตงร้าน ฟักแฟง มะระ บวบ แตงโม แคนตาลูป ฯลฯ เป็นพืชผักที่มีราคาถูก มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณและถนอมสายตา นำมาทำอาหารได้หลายชนิด เช่น ยอดอ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่แกงเลียง แกงส้มเปรอะ แกงส้ม เป็นต้น เนื้อใช้ทำอาหารได้ทั้งคาว-หวาน ทั้งผัด-แกง-ขนม และใช้เป็นอาหารเสริมในเด็กเล็ก รวมทั้งดัดแปลงมาใช้โรยหน้าหรือปนในขนมต่างๆ ทำให้มีสีสันสวยงาม และมีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ฟักทองเป็นพืชผักที่มีกากใยมากพอสมควร ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และไม่ทำให้อ้วน เพราะมีแคลอรีไม่สูงมาก ผู้ต้องการมีรูปร่างสวยงามควรบริโภคเป็นประจำและฟักทองยังมีวิตามินสูง ซึ่งช่วยบำรุงผิวพรรณและสายตาอีกด้วย

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ฟักทองเป็นพืชผักที่มีลำต้นทอดและเลื้อยไปตามพื้นดิน เช่นเดียวกับแตงโม มีดอกสีเหลือง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกันแต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องการช่วยผสมเกสร โดยวิธีธรรมชาติ เช่น ลมพัด หรือมีแมลงผสมเกสร หรือผู้ปลูกช่วยผสมเกสรเพื่อการติดผลเป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ มีหนวดสำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดิน จึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่มีอายุปีเดียว (ฤดูเดียว) เมื่อให้ผลแล้วก็ตายไป มีหลายพันธุ์ทั้งแบบต้นเลื้อยและเป็นพุ่มเตี้ย พันธุ์เบามีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-60 วัน ส่วนพันธุ์หนักมีอายุตั้งแต่หยอดเมล็ดจนติดผลอ่อน 45-60 วันและให้ผลแก่เมื่อ 120-180 วัน โดยทยอยเก็บผลได้หลายครั้งจนหมดผล

พันธุ์ฟักทอง มีหลายพันธุ์ทั้งแบบต้นเลื้อยและเป็นพุ่มเตี้ย มีพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ เรียกตามลักษณะของผล เช่น พันธุ์ข้องปลา จะมีลักษณะของผลคล้ายข้องปลา, พันธุ์ผลมะพร้าว จะมีลักษณะผลคล้ายมะพร้าว เป็นต้น

พันธุ์ดำ เมื่อแก่เปลือกจะมีสีเขียวเข้มอมดำ เปลือกจะขรุขระเป็นปุ่มปม คล้ายผิวคางคก (บางทีก็เรียกพันธุ์คางคก) ก้นของผลยุบเข้าไปในผล ทำให้ปอกเปลือกยาก แต่เป็นพันธุ์หนักผลโต

พันธุ์น้ำตก ผิวจะไม่ค่อยขรุขระนัก ก้นของผลจะนูนออกมา ทำให้ปอกเปลือกง่าย ผลเล็กกว่าพันธุ์ดำเล็กน้อย

พันธุ์ฟักทองนี้ จะมีชื่อเรียกแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน มีขนาดรูปร่างสีเปลือก ผล และเนื้อก็แตกต่างกันไป พันธุ์เบาให้ผลเล็ก อายุเก็บเกี่ยว 120-180 วัน โดยทยอยเก็บผลได้เรื่อยๆ 4-5 ครั้ง ต้นหนึ่งๆ จะให้ผลได้ 4-5 ผล หรือมากกว่าถึง 7 ผล พันธุ์คางคก หรือพันธุ์ดำ ผิวขรุขระมาก พันธุ์คิงคอง จะมีพูขึ้นมาคล้ายกล้ามคิงคอง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ดิน
ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีการปลูกผัก ชอบดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และมีการระบายน้ำดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างของดินระหว่าง 5.5-6.8 (ชอบดิน
เป็นกรดเล็กน้อย) ชอบอากาศแห้ง ดินไม่ชื้นแฉะ และน้ำไม่ขังฤดูปลูก ส่วนมากจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม หรือหลังฤดูทำนา แต่สามารถได้ดีในปลายฤดูฝน และต้นฤดูหนาวคือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และปลูกได้ดีที่สุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน

การปลูกฟักทอง การปลูกฟักทองคล้ายๆ กับแตงโม ควรขุดไถดินลึกประมาณ 25-30 ซม. เพราะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก ควรตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัชพืชได้บ้าง ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน แล้วจึงย่อยพรวนดินให้ร่วนซุยเก็บเศษวัชพืชต่างๆ ออกจากแปลงให้หมด

การปลูก
พันธุ์ที่มีลำต้นเลื้อยและให้ผลใหญ่ ใช้เนื้อที่ปลูกมาก โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร พันธุ์ที่มีทรงต้นพุ่ม ให้ผลขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 75x150 ซม. (พันธุ์เบา)ใช้วิธีหยอดหลุมปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด ลึกประมาณ 3-5 ซม. แล้วกลบหลุม ถ้ามีฟางข้าวแห้ง ให้นำมาคลุมแปลงปลูก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าดิน และเมล็ดพันธุ์จะงอกเป็นต้นกล้า ตั้งตัวได้เร็วการหยอดหลุมปลูกในแปลง จะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง และโตเร็วกว่า การย้ายกล้าจากถุงมาปลูก หากหลุมใดไม่งอก แม้จะนำมาปลูกซ่อม ก็จะเจริญไม่ทัน แต่หากว่างไว้ จะกินเนื้อที่ว่างมาก ควรปลูกซ่อม แต่จะเก็บผลได้ช้ามาก

การดูแลรักษาและการใส่ปุ๋ย
เมื่อต้นกล้างอกจะมีใบจริง 2-3 ใบแล้ว ควรถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป เหลือต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง เหลือหลุมละ 2 ต้น และรดน้ำทุกวันเมื่อต้นกล้าเจริญจนไม่มีใบจริง 4 ใบ ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือปุ๋ยผัก (21-0-0) ละลายน้ำแล้วใช้รดต้นฟักทอง ต้องรดน้ำทุกวันเมื่อฟักทองเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 (หรือสูตรใกล้เคียงกัน เช่น 13-13-27 หรือ 14-14-21) โรยรอบๆ ต้นแล้วรดน้ำตามและใส่ปุ๋ยอีกครั้งเมื่อฟักทองเริ่มติดผลอ่อนพันธุ์ฟักทองที่เป็นพันธุ์หนักให้ผลโต อายุเก็บเกี่ยวยาวนาน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยให้ฟักทองพันธุ์หนักควรใส่มากกว่าพันธุ์เบา การรดน้ำต้องรดน้ำทุกวัน จนคะเนว่าอีก 15 วัน จะเก็บผลแก่ได้ จึงเลิกรดน้ำ

การกำจัดวัชพืช
ควรทำในระยะแรก เพื่อให้ดินร่วนซุยและโปร่ง พอต้นฟักทองมีใบปกคลุมดินแล้วก็ไม่ต้องกำจัดวัชพืช
เทคนิคการช่วยผสมเกสร เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลจะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป วิธีนี้เรียกว่า "การต่อดอก" การต่อดอก โดยปลิดกลีบดอกตัวผู้ออก แล้วนำไปเคาะให้ละอองเกสรตกลงบนดอกตัวเมีย อีกวิธีหนึ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง จ.สกลนคร แนะนำเทคนิคง่ายๆ คือ เอานมผงที่ใช้เลี้ยงทารกผสมน้ำพอประมาณ พ่นใส่ดอกฟักทองในระยะที่ดอกกำลังบาน เพื่อล่อแมลงมาช่วยผสมเกสร วิธีนี้ช่วยให้ฟักทองติดผลทุกเถา โดยไม่ต้องต่อดอก

การเก็บเกี่ยว ฟักทองเป็นพืชผักที่แมลงไม่ค่อยชอบทำลายเมื่อผลแก่เก็บเกี่ยวไว้เลยโดยสังเกตสีเปลือก สีจะกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไม่แตกต่างกันมากนักดูนวลขึ้นเต็มทั้งผล คือมีนวลขึ้นตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัดการเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วยสักพอประมาณเพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้นสามารถเก็บผลไว้รอขาย หรือบริโภคได้นานๆ โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็น

การให้ผลผลิต จะทยอยเก็บผลได้ 5-6 ครั้ง เก็บได้เรื่อยๆ ถ้าปลูกเดือนกุมภาพันธ์จะเก็บผลได้ในเดือนมิถุนายน (พันธุ์หนัก) ทยอยเก็บไปได้เรื่อยๆ จนเดือนกรกฎาคม ต้นหนึ่งถึง 5-7 ผล 1 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1-1.5 ตัน ถ้าดูแลรักษาใส่ปุ๋ยดีจะให้ถึง 2 ตัน (น้ำหนักสด) ถ้าพันธุ์เบา ปลูกได้ 50-60 วัน ก็เก็บผลได้

2. การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน

2.1. โรคเถาเหี่ยว (เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย)
ลักษณะคือใบในเถาจะเหี่ยวลงทีละใบ เมื่อเหี่ยวจากปลายเถามาโคนเถาแล้ว จะเหี่ยวพร้อมกันหมดทั้งต้น ถ้าเอามีดเฉือนเถาที่เหี่ยวดูตามความยาวจะเห็นว่า กลางลำต้นในเถาฉ่ำน้ำมากกว่าปกติ เชื้อแบคทีเรียนี้จะอาศัยอยู่ในตัวแมลงเต่าแตง เมื่อแมลงเต่ามากัดกินใบ จะนำเชื้อนี้เข้าสู่ต้นฟักทองและเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว
การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีเซพวิน 85 อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (ห้ามใช้เกินจะทำให้ใบใหม้) ฉีดพ่นแมลงเต่าที่เป็นพาหะนำโรคเถาเหี่ยว โดยฉีดพ่นเมื่อต้นกล้าแข็งแรง พ่นทุก 5-7 วัน จนฟักทองเริ่มทอดยอด

2.2. เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงขนาดเล็กมาก ตัวอ่อนจะมีสีแสด ตัวแก่จะเป็นสีดำตัวขนาดเท่าปลายเข็มจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนและใต้ใบอ่อน ทำให้ยอดหดสั้นปล้องถี่ ยอดชูตั้งขึ้น หรือเรียกว่า โรคยอดตั้ง (ไอ้โต้ง) ถ้าพึ่งเริ่มเป็นใหม่ๆ แล้วมีฝนตกมาหรือให้น้ำทั่วถึงเพลี้ยไฟจะหายไป โรคยอดตั้ง เกิดจากเพลี้ยไฟ
การป้องกันกำจัด
1. ปลูกมะระล้อมไว้สัก 2 ชั้น แล้วจึงปลูกฟักทอง เพราะมะระจะต้านทานเพลี้ยไฟได้ดี หรือปลูกมะระแซมในแปลงที่ปลูกฟักทอง
2. เพลี้ยไฟชอบระบาดในฤดูแล้ง ถ้ามีฝนมาจะหายไป เมื่อเพลี้ยไฟเข้าทำลายใช้แลนเนท หรือไรเนต หรือพอสซ์ ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ถ้าระบาดมากฉีดพ่น 3-5 วัน โดยงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน

3. การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย
การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องและต้องคำนึงถึง ดังนี้คือ ประเภทของสารเคมี, เครื่องพ่นสารเคมี, การผสมสารเคมี และเวลาของการใช้สารเคมี
ประเภทของสารเคมี สารเคมีกำจัดแมลงมีอยู่หลายประเภท ได้แก่

1. สารเคมีที่พ่นถูกตัวตาย จะใช้ก็ต่อเมื่อต้องการลดปริมาณของแมลงลงอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหาย เมื่อพ่นสารกำจัดแมลงแล้ว จะมีผลทำให้แมลงตายในทันที (knock down effect) หรือค่อย ๆ ตาย

2. สารเคมีที่กินแล้วตาย เมื่อเกิดศัตรูระบาดเราสามารถพ่นสารเคมีลงไปบนพืชที่เราต้องการคุ้ม ครองเมื่อแมลงบินเข้ามากิน หรือฟักออกจากไข่ กินพืชผลก็จะตาย สารเคมีบางชนิดมีพิษตกค้างนาน หรือสั้นแล้วแต่ชนิดของสาร

3. สารเคมีประเภทดูดซึม แมลงบางชนิดเป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกใบและยอดอ่อน ดังนั้น
การที่พ่นถูกตัวตายอาจไม่ตรงกับช่วงแมลงที่เข้ามากินพืช ดังนั้น การใช้สารฆ่าแมลงที่เป็นสารดูดซึมเข้าไปในต้นพืช เมื่อแมลงบินเข้ามาดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ก็จะดูดสารฆ่าแมลงเข้าไปและตายในที่สุด

4. สารเคมีที่ใช้กำจัดแมลงในดิน แมลงบางชนิดอาศัยอยู่ในดิน กัดกินรากพืชทั้งต้นอ่อนและต้น ที่โตเต็มที่ ดังนั้น การเลือกสารฆ่าแมลงที่ใช้ในดินก็จะสามารถกำจัดแมลงเหล่านั้นได้

5. สารเคมีประเภทสารรมและสารคลุกเมล็ดแมลงบางชนิด เช่น แมลงศัตรูในโรงเก็บ กินเมล็ด พันธุ์พืชที่อยู่ในโรงเก็บต้องใช้สารชนิดรม เช่น เมทธิลโบรไมด์ เพื่อกำจัดแมลงในโรงเก็บได้ หรืออาจจะใช้สารเคมีคลุกเมล็ดที่ใช้พันธุ์ เมื่อแมลงระบาดทำลายเมล็ด จะถูกสารเคมีที่คลุกไว้ก็อาจจะตายได้

6. สารเคมีที่กำจัดแมลงเฉพาะชนิด ในกรณีนี้ผู้ใช้สารมักจะคำนึงถึงสภาพแวดล้อม แมลง วัชพืช แมลงห้ำ และแมลงเบียน ถ้าหากเราจะกำจัดเฉพาะเพลี้ยอ่อน เราก็เลือกสารเคมีที่กำจัดเฉพาะเพลี้ยอ่อนแต่ไม่ทำลายแมลงห้ำ แมลงเบียน เช่น พิริมอร์ หรือแอพพลอด ทำลายเฉพาะเพลี้ยอ่อน ไมแทค ทำลายเพลี้ยจั๊กจั่นข้าว เคลเทน ฆ่าเฉพาะไรแดง หรือปัจจุบัน มีสารยับยั้งการลอกคราบ เช่น อาทาบรอน ดิมิลิน จะกำจัดแมลงเฉพาะพวกหนอนกินใบ ดอก ผล แต่สารทั้งหมดดังกล่าวนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อแมลงห้ำแมลงเบียน ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ

7. สารเคมีสังเคราะห์ ปัจจุบันสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์ก็ถือว่าเป็นสารที่เป็นพิษต่อสัตว์เลือด อุ่นน้อย พิษตกค้างต่ำ สลายตัวเร็ว และบางชนิดยังไม่เป็นอันตรายต่อผึ้งและแมลงผสมเกสรอีกด้วย

ลุงหนวด
Power Membership
Power Membership
โพสต์: 4406
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 12 ธ.ค. 2014 12:01 pm

Re: การปลูกฟักทอง การใช้ปุ๋ย พันธุ์ฟักทอง การเตรียมดิน ปุ๋ย การใช้สารเคมีต่างๆ

โพสต์โดย ลุงหนวด » พุธ 01 พ.ย. 2017 2:49 pm

กำลังลองปลูกเหมือนกัน


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 59 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน