วิธีการเตรียมปลูกมะละกอให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ป้องกัน โรค ปุ๋ย

รวมความรู้ ทิป และเทคนิคทั่วไป
Sunflower_Man
Jr. Member
Jr. Member
โพสต์: 78
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 06 มิ.ย. 2012 3:45 pm

วิธีการเตรียมปลูกมะละกอให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ป้องกัน โรค ปุ๋ย

โพสต์โดย Sunflower_Man » ศุกร์ 08 มิ.ย. 2012 4:58 pm

วิธีการเตรียมปลูกมะละกอให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ป้องกัน โรค ปุ๋ย
มะละกอ.jpg
มะละกอ
มะละกอ.jpg (83.82 KiB) เปิดดู 30858 ครั้ง

การผลิตมะละกอที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

1. การปลูก
1.1 การเตรียมดิน
- ไถพื้นที่เพื่อปราบวัชพืช 2 ครั้ง ครั้งแรกไถกลบ ครั้งที่ 2 ไถพรวน ย่อยดินให้ร่วน
- โดยทั่วไปใช้ระยะปลูก 2.50x2.50 เมตร หรือ 2x2 เมตร
- ขึ้นแปลงปลูกเป็นลอนลูกฟูก ตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนาดลอนลูกฟูกกว้าง 1.50-2.00 เมตร สูง 30-50 เซนติเมตร ความยาวขึ้นกับพื้นที่ พื้นที่ลุ่ม
- ยกร่องอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ โดยมีสันร่องกว้างประมาณ 4 หรือ 6 เมตร ทำคูน้ำหรือร่องน้ำกว้าง 1.50 เมตร ลึก 1.50 เมตร สันร่องกว้าง 70 เซนติเมตร และหลังร่องควรสูงจากระดับผิวน้ำอย่างน้อย 70 เซนติเมตร
- พื้นที่ลุ่มมาก ต้องทำคันกั้นน้ำล้อมรอบสวน มีท่อระบายน้ำเข้า-ออก

1.2 การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เลือกเก็บเมล็ดจากต้นสมบูรณ์เพศ และเป็นต้นที่ให้ผลผลิตดี สม่ำเสมอ ตลอดฤดูกาลปลูก รูปร่างผลทรงกระบอก ไม่บิดเบี้ยว ไม่มีโรค-แมลง ควรเก็บเมล็ดจากผลที่อยู่ตรงกลางลำต้นหรือผลชุดที่ 2 ในกรณีที่ต้องการพันธุ์แท้ควรช่วยผสมพันธุ์โดยใช้ถุงคลุมดอกก่อนดอกบาน เมื่อดอกบานใช้เกสรตัวผู้ในต้นเดียวกันหรือพันธุ์เดียวกันป้ายที่เกสรตัวเมียแล้วใช้ถุงคลุมอีกครั้ง หลังจากนั้น 7 วันจึงถอดถุงคลุมออก เก็บเมล็ดจากผลที่สุกเต็มที่แล้วนำเมล็ดไปล้างเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออกก่อนจึงจะนำไปเพาะได้ ถ้าเพาะทันทีอัตราการงอกจะไม่สม่ำเสมอ ถ้าเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30-50วัน เมื่อนำไปเพาะอัตราการงอกจะสม่ำเสมอให้ต้นกล้าที่มีขนาดและอายุไล่เลี่ยกัน ทำให้ออกดอกและติดผลในเวลาใกล้เคียงกันการทำความสะอาดเมล็ด แช่เมล็ดไว้ประมาณ 2-3 วัน ล้างให้สะอาดผึ่งแดด 2-3 แดด ก็จะได้เมล็ดที่สะอาดและสามารถเก็บไว้ได้นาน

1.3 วิธีการปลูก
ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดไว้ในน้ำอย่างน้อย 1 คืน ผึ่งในที่ร่ม ใช้ผ้าห่อเมล็ดไว้อีก 1 คืน เพื่อให้เมล็ดงอกได้ดีขึ้นและนำเมล็ดที่งอกไปปลูกทันที
1.3.1 การปลูกมะละกอ มี 2 วิธี
1. โดยการย้ายปลูก ทำได้ 2 วิธี
1.1 เพาะเมล็ดในแปลงเพาะหรือกะบะ การเพาะวิธีนี้เป็นการประหยัดแรงงานในช่วงต้นกล้าและเป็นวิธีที่ต้องการต้นกล้าจำนวนมาก แปลงเพาะมีขนาดกว้าง 1 เมตร สูง 30เซนติเมตร ความยาวไม่จำกัด โรยเมล็ดให้เรียงเป็นแถว เมล็ดจะได้งอกขึ้นเป็นระเบียบ ระยะหยอดเมล็ดประมาณ 2.5x5.0 เซนติเมตร ความลึก 1 เซนติเมตร เมื่อโรยเมล็ดแล้วรดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าแฉะเมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วัน หลังจากต้นกล้ามีอายุ 30-40 วันหลังจากงอกก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้ (ต้นกล้าสูงประมาณ 20 เซนติเมตร) การย้ายกล้าปลูกควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนหรือขาดเพราะจะทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อราเข้าทำลายรากได้ และควรมีดินติดรากด้วยในขณะย้ายปลูก จะทำให้ต้นไม่ชะงักการเจริญเติบโต
1.2 เพาะในถุงพลาสติก วิธีนี้ต้นกล้าจะรอดตายมาก หยอดเมล็ดในถุงพลาสติกถุงละประมาณ 3 เมล็ด เมื่อต้นกล้างอกเก็บต้นกล้าไว้ 1-2 ต้นต่อถุง หลังจากนี้จึงย้ายปลูกเช่นเดียวกับวิธีแรก การย้ายปลูกให้มีดินติดรากและไม่ควรพูนโคนให้เกินรอยปลูกระดับเดิมเพราะอาจจะทำให้เกิดโรครากเน่า-โคนเน่าได้ง่าย

2. ปลูกโดยตรงลงแปลง
เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว หยอดเมล็ดหลุมละ 5-10 เมล็ด เมื่อต้นกล้างอกคัดให้เหลือ 3 ต้นต่อหลุม จากนั้นรอจนออกดอกจึงเก็บต้นสมบูรณ์เพศไว้ 1 ต้นต่อหลุมที่เหลือตัดทิ้ง เลือกต้นมะละกอที่มีการเจริญเติบโตปานกลาง ต้นที่เจริญเติบโตดี แข็งแรงมากมีแนวโน้มว่าจะเป็นต้นตัวผู้มากกว่าต้นสมบูรณ์เพศและต้นตัวเมีย การตัดต้นทิ้งควรดูว่าต้นที่เหลืออยู่ห่างกันพอสมควรไม่ชิดกันมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นสูงชะลูดไม่แข็งแรง วิธีนี้เป็นวิธีที่เปลืองเวลา แรงงานในการรดน้ำขณะที่เพาะระยะแรกและต้องใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมาก แต่ผลดีคือไม่เสียเวลาในการย้ายกล้าปลูกและสามารถเลือกต้นสมบูรณ์เพศได้

1.3.2 ระยะปลูก
วางผังระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 1.5x1.5 เมตร หรือ 2x2 เมตร หรือ 2.5x2.5 เมตร สำหรับพื้นที่ลุ่มที่ปลูกโดยการยกร่อง ดังนั้นระยะปลูกระหว่างแถวจึงขึ้นกับขนาดร่อง โดยปกติร่องจะมีความกว้างประมาณ 2x2.5 เมตร ปลูกมะละกอ 2 แถว (ระยะระหว่างแถวประมาณ 2.0-2.5 เมตร) ระยะระหว่างต้น 1.5-2.0 เมตร ร่องหนึ่งจะปลูกมะละกอได้ประมาณ 80 ต้น ถ้าร่องกว้าง 3.0 เมตร ยาว 80 เมตร ใช้ระยะปลูก 2.0x2.0 เมตร จะได้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่

การดูแลรักษา

1. การให้ปุ๋ย
มะละกอต้องการปุ๋ยเป็นจำนวนมาก เพื่อการเจริญฌติบโต ปุ๋ยที่ให้กับมะละกอมีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ส่วนมากจะใส่ในช่วงเตรียมดินก่อนปลูกโดยจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักหลังปลูก 3-4 ครั้ง/ปี ครั้งละหนึ่งปี๊บต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมีใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กรัมต่อต้นหลังย้ายปลูก 1 เดือนและใส่ทุกเดือน เดือนที่ 3 เพิ่มเป็นอัตรา 100 กรัม/ต้นทุกเดือน เมื่อมะละกอเริ่มติดผลใส่ปุ๋ยสูตร15-15-15 อัตรา 100 กรัมผสมกับยูเรีย 50 กรัมต่อต้น การใส่ปุ๋ยหว่านห่างจากโคนต้นแล้วใช้ดินกลบอย่าใส่ปุ๋ยกลบโคนต้น นอกจากนี้ควรให้ปุ๋ยทางใบเสริม ปุ๋ยสูตร 21-21-21 ที่มีธาตุอาหารรองพ่นทุก 2 สัปดาห์ อัตรา 5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร

2. การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้นมะละกอยังเล็กอยู่การถางด้วยจอบเป็นวิธีที่ใช้อยู่ทั่วๆไป ไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากมะละกอเป็นพืชทีไวต่อปฏิกิริยาของสารเคมีในยาปราบวัชพืชมาก แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ในช่วงเตรียมแปลงก่อนปลูกให้ใช้พารา ครวท และถ้าปลูกมะละกอแล้วให้ใช้ไดยูรอนไม่ควรใช้ 2,4-D เพราะจะมีผลทำให้ต้นมะละกอหยุดการเจริญเติบโตและเกิดอาการใบหงิก

3. การให้น้ำ
น้ำจำเป็นมากในขณะที่มะละกอยังเล็ก และช่วงที่ออกดอก ถ้ามะละกอขาดน้ำในช่วงนี้ต้นเล็กจะแคระแกร็น ไม่โต และดอกร่วง การให้น้ำ ในสวนแบบยกร่องจะใช้เครื่องสูบน้ำเข็นไปตามร่องสวนระดับน้ำในสวนจะมีมากพอจะเข็นเรือไปตามร่องน้ำได้ ในฤดูร้อนจะรดน้ำประมาณ 3-5 วันครั้ง ในฤดูฝนอาจจะไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย หรือจะรดน้ำในช่วงที่ขาดฝนหรือสังเกตจากดินที่แห้ง

4. การออกดอกติดผล
หลังจากปลูกมะละกอไปได้ประมาณ 90-110 วัน มะละกอก็จะเริ่มออกดอกให้เลือกเฉพาะต้นกระเทยหรือต้นสมบูรณ์ไว้หลุมละ 1 ต้น โดยการสังเกตจากดอกของมะละกอที่เหลือให้ตัดหรือถอนทิ้ง

ลักษณะเพศของมะละกอ
- ต้นตัวผู้มีแต่ดอกตัวผู้ล้วนๆ ลักษณะเป็นหลอดเล็กๆส่วนปลายบานและแยกกันเป็นรูปแฉกข้างในมีเกสรตัวผู้ 10 ชุด ก้านดอกยาวและไม่ติดกัน ต้นชนิดนี้ไม่ติดผลหรือติดแต่เป็นผลเล็ก เรียก “มะละกอติ่ง”
- ต้นตัวเมียมีดอกตัวเมียล้วนๆลักษณะอวบใหญ่ มีกลีบดอก 5 กลีบ แยกกันเห็นได้ชัดตั้งแต่โคนกลีบ ปลายรังไข่มีที่รองรับละอองเกสรเป็นแฉกเล็กๆ 5 แฉก ไม่มีเกสรตัวผู้ ก้านดอกสั้นเมื่อติดผลก็จะให้ผลทรงกลมเนื้อผลบาง ข้างในผลกลวง ต้นสมบูรณ์เพศหรือต้นกระเทย จะมีดอกสมบูรณ์เพศติดอยู่บนช่อดอกเป็นกลุ่ม ลักษณะเป็นทรงกระบอกมีกลีบหุ้มอยู่ 5 กลีบ ภายในมีรังไข่ยาวทรงกระบอกและมีเกสรตัวผู้ ดอกสมบูรณ์จำแนกออกได้ 3 ชนิด
1. ดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวผู้ ปกติจะให้ผลทรงกระบอกสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด
2. ดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวผู้อยู่ติดกับรังไข่ก็จะให้ผลทรงบิดเบี้ยว
3. ดอกสมบูรณ์เพศที่ให้ผลเป็นพูลึก ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

5. การปลิดผล
มะละกอเป็นไม้ผลที่ติดผลค่อนข้างดก เพื่อให้การผลิตมะละกอมีคุณภาพและช่วยต้นมะละกอมีอายุยืนยาวและป้องกันการโค่นล้ม จึงจำเป็นต้องมีการปลิดผลมะละกอที่ติดผลกันมากจนแน่นออกเสียบ้าง เช่น ผลขนาดเล็ก ผลบิดเบี้ยว และผลที่เกิดจากดอกแขนงออก การปลิดผลออกจะช่วยให้ผลที่อยู่บนต้นมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดี

6. การเก็บเกี่ยว
ในการผลิตมะละกอเป็นการค้านั้น มะละกอที่ตลาดต้องการมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. มะละกอดิบ เป็นการเก็บเกี่ยวมะละกอผลอ่อน ผลขนาดเล็ก จะเริ่มเก็บผลเมื่ออายุ 2-3 เดือน หลังจากดอกบาน เก็บ 10-15 วันต่อครั้ง ครั้งละ 5-10 ผลต่อต้น ในพื้นที่ 1 ไร่จะได้มะละกอประมาณ 1,000 กิโลกรัม หลังจากนั้นจะเก็บไปได้เรื่อยๆประมาณ 4 เดือนจนจะหมด 1 คอ
2. มะละกอสุก จะเลือกเก็บมะละกอเมื่อเริ่มเปลี่ยนสีบริเวณปลายผล โดยผิวมีสีเหลืองส้มประมาณ 5% มะละกอเป็นพืชที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางชีวเคมีเกิดขึ้นในผลสุกที่เก็บเกี่ยวมาแล้วเช่น มีการเพิ่มปริมาณน้ำตาล วิตามินซี แคโรทีน แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก ในขณะเดียวกันปริมาณกรด และความแน่นเนื้อจะลดลง การเก็บผลในช่วงที่เหมาะสมจะทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น และมีคุณภาพดี ถ้าต้องการส่งตลาดต่างประเทศควรเก็บเมื่อมะละกอเริ่มเปลี่ยนสีผล แต่ถ้าใช้บริโภคภายในประเทศจะเก็บเมื่อผลสุกมากขึ้น

7. วิธีการเก็บเกี่ยว
ควรใช้กรรไกรหรือมีดตัดขั้วผลให้ยาวชิดลำต้น แล้วจึงมาทำการตัดขั้วผลที่ยาวออกให้สั้นลงเหลือไว้เพียงประมาณ 1 นิ้ว ไม่ควรบิดผลขณะเก็บเกี่ยว เพราะอาจทำให้ขั้วผลช้ำซึ่งอาจทำให้เชื้อราเข้าทำงายมะละกอโดยผ่านทางขั้วผลที่ช้ำได้

8. การจัดการผลมะละกอหลังการเก็บเกี่ยว
1. นำผลมะละกอที่เก็บจากต้นแล้วใส่ภาชนะเป็นเข่งพลาสติกที่กรุด้วยกระสอบพลาสติก กระสอบปุ๋ย เพื่อลำเลียงมะละกอมาเก็บในโรงเรือนหรือที่ร่ม
2. ทำการคัดคุณภาพและขนาดผลมะละกอ ผลมะละกอที่มีร่องรอยถูกโรคแมลงทำลายเสียหายให้ตัดออก คัดแยกผลเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก
3.ทำความสะอาดผลมะละกอ
4. เขียนป้ายบอก ขนาดผล น้ำหนักผลรวม ชื่อสวน การบรรจุหีบห่อ
ห่อผลมะละกอด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วนำแต่ละผลลงตะกร้าพลาสติกที่กรุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ การห่อผลช่วยให้ผิวมะละกอไม่บอบช้ำที่อาจเกิดจากการเสียดสีขณะทำการขนส่ง

9. โรคและแมลงศัตรูมะละกอ

โรคของมะละกอ
1. โรครากเน่า-โคนเน่า เกิดจากเชื้อพิเทียมและไฟท๊อปธอร่า
เกิดได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะละกอ ในระยะกล้าเกิดจากการเน่าคอดิน กล้ามะละกอที่เป็นโรคจะเกิดอาการใบเหลือง รากเน่า ต้นมักจะหักพับตรงโคน และเหี่ยวตายอย่างรวดเร็ว สำหรับต้นที่โตจะมีอาการเน่ารอบๆลำต้นเป็นสีน้ำตาลหรือดำลักษณะฉ่ำน้ำ รอยเน่าอาจขยายตัวขึ้นด้านบนของลำต้นหรือขยายลงส่วนรากทำให้รากเน่าด้วย ใบที่เกิดมาใหม่จะมีก้านใบสั้นกว่าปกติ ใบที่เจริญเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเร็วกว่าปกติ โรคนี้ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ถ้าต้นมะละกอเป็นโรคนี้จะระบาดได้รวดเร็วไปทั้งสวน
การป้องกันกำจัด
- ในสวนที่มีโรคนี้ระบาด ควรปลูกพืชอื่นทดแทน การปลูกซ้ำที่จะทำให้การระบาดของโรคมากขึ้น
- พบต้นที่แสดงอาการของโรคต้องถอนและเผาทิ้งทันที
- เลือกพื้นที่ปลูกมะละกอที่ดินมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง
- คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วย MBC + mancozeb (Delsene Mx 80% WP) อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม และหลังจากกล้างอก 1-2 อาทิตย์ พ่นด้วย Metalaxyl (Ridomil 25% WP) 20-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ Mancozeb (Dithane M45 80% WP) 48 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อฝนตกชุกและมีการระบาดของโรคควรราดโคนต้นทุกๆ 7-15 วันต่อครั้ง

2. โรคใบด่างจุดวงแหวนของมะละกอ เกิดจากเชื้อ Papaya Ringspot Virus (PRV) เข้าทำลายมะละกอทุกระยะการเจริญเติบโต
ระยะต้นกล้า ทำให้กล้าแคระแกร็น ใบด่างเหลือง บิดเบี้ยวเสียรูป ใบจะหงิกงอเรียวเล็ก ถ้าเป็นโรครุนแรงใบจะเหลืองแต่เส้นใบ ต้นกล้าจะไม่เจริญและตายในที่สุด
ระยะต้นโต อาการใบด่างเหลืองบิดเบี้ยว บนลำต้นและก้านใบจะพบลักษณะที่เป็นจุดหรือทางยาวสีเขียวเข้ม อาการที่ผลจะเห็นจุดลักษณะเป็นวงแหวนทั่วทั้งผล เนื้อบริเวณที่เป็นจุดวงแหวนมักจะเป็นไตแข็ง มีรสขม
การแพร่ระบาด โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะ มีพืชอาศัย เช่น ฟัก แฟง แตงกวา และตำลึง การแพร่เชื้อโดยเพลี้ยอ่อนนี้จะใช้เวลาสั้นมาก ประมาณ 30 วินาที ก็แพร่เชื้อได้ หลังจากต้นมะละกอได้รับเชื้อไวรัสแล้วประมาณ 15-30 วันก็จะแสดงอาการของโรคให้เห็น
โรคใบด่างมะละกอเป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุด ระบาดครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2518 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบว่าโรคนี้ได้แพร่ระบาดที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม ในปีพ.ศ. 2519 โรคนี้ระบาดรุนแรงที่จังหวัดราชบุรี และในปี พ.ศ. 2533 พบโรคระบาดรุนแรงในจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี
แนวทางการป้องกันกำจัด
ด้านการป้องกันและการกำจัดโรคใบด่างมะละกอ ในขณะนี้ยังไม่มีวิธีที่สามารถใช้ใน การป้องกันกำจัดโรคนี้ได้อย่างสิ้นเชิง แต่มีวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงโรคหรือทำให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยหรือทำให้มะละกอเป็นโรคช้า ดังต่อไปนี้
1. ควรตัดทำลายทะละกอต้นเก่าที่มีอายุเกิน 2 ปี หรือต้นที่เป็นโรครุนแรงทิ้งให้หมดจากพื้นที่นั้น แล้วทิ้งพื้นที่ให้ว่างประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะปลูกมะละกอชุดใหม่
2. ตัดทำลายมะละกอที่แสดงอาการเป็นโรคใบด่างทิ้งทันทีที่สังเกตเห็น
3. ในพื้นที่มีระบบชลประทานหรือดินมีความชื้นพอจะปลูกมะละกอในช่วงปลายฤดูฝนหรือช่วงแล้งตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม การระบาดของโรคจะน้อย พืชจะเจริญเติบโตและให้ดอกผลในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน ซึ่งเวลานั้นหากจะมีโรคระบาดมะละกอที่ปลูกก็ต้นโตและสามารถให้ผลผลิตได้บ้างแล้ว
4. ดูแลและบำรุงต้นมะละกอให้ดีจะทำให้ต้นแข็งแรงให้ลูกเร็วสามารถลดการทำลายของโรคลงได้ มะละกอเป็นพืชที่ตอบสนองต่อปุ๋ยดีมาก ดังนั้นการบำรุงด้วยปุ๋ยวิทยาศาสตร์จึงได้ผลคุ้มค่า ผลดก และรสชาติดี
5. ไม่ควรปลูกมะละกอไว้นานเกิน 2 ปี เพราะผลผลิตมะละกอจะสูงสุดใน2 ปรแรกเท่านั้น นอกจากนี้มะละกอต้นแก่ยังเป็นแหล่งสะสมโรคทำให้แพร่ระบาดไปยังต้นปลูกใหม่ได้
6. ใช้มะละกอพันธุ์ทนทานโรค เช่น พันธุ์ฟลอริด้า ทอเลอแรนท์ ซึ่งเป็นมะละกอพันธุ์รับประทานสุก ผลมีลักษณะกลมขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 400-700 กรัม หรือใช้พันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์แขกดำและพันุ์ฟลอริด้า ทอเลอแรนท์ ชั่วที่ 1-6 (F1-F6) ที่ผสมขึ้นโดยสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
7. ใช้เชื้อต้านเชื้อ (Cross Protection) โดยใช้เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคที่ไม่รุนแรง (Mild Strain) ฉีดเข้าไปในต้นกล้ามะละกออายุ 1-2 สัปดาห์ แล้วนำไปปลูก ต้นมะละกอที่มีเชื้อไม่รุนแรงสามารถต้านเชื้อที่รุนแรงทำให้มะละกอไม่เป็นโรคและติดลูกได้

3. โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา
โรคนี้จะเข้าทำลายทั้งผลและใบของมะละกอ
อาการผลสุกจะเกิดจุดฉ่ำน้ำและยุบลงไปในผล ตรงกลางจุดจะมีสปอร์ของเชื้อสีส้มหรือชมพู ผลดิบอาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการบนใบ ใบมะละกอที่เป็นโรคจะเหี่ยวแห้งหล่นไป โรคนี้จะระบาดมากในสภาพที่มีอุณหภูมิสูง ฝนตกชุก และมีความชื้นสูง
การป้องกันกำจัด
พบการระบาด ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น แมนโคเซบหรือไดแทน เอ็ม45 อัตรา 4 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร พ่นทุกๆ 7 วัน หรือจะใช้คาร์เบนดาซิมในอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำพ่นทุกๆ 10-15วัน จนกว่าอาการของโรคจะทุเลาลงหลังเก็บเกี่ยวมะละกอแล้ว จุ่มผลลงในน้ำอุ่นอุณหภูมิ43-49 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 20วินาที จะช่วยลดความเป็นโรคนี้ได้

แมลงศัตรูของมะละกอ

1. เพลี้ยไฟ
เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวแคบยาวสีเหลืองอ่อนตัวเต็มวัยมีปีกบินได้ ระบาดช่วงปลายฤดูแล้ง เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบและบนผลอ่อน ทำให้ผิวของผลมีลักษณะเป็นขี้กลากสีน้ำตาก เมื่อพบใช้น้ำฉีดพ่นจะช่วยลดความรุนแรงจากการทำลายของเพลี้ยไฟได้

2. ไรแดง
จะทำลายก้านใบ แผ่นใบ และผลมะละกอสุก จะดูดน้ำเลี้ยงใต้ผิวใบมะละกอขนาดของตัวเล็กมากตัวแก่เป็นสีแดงหรืออมชมพูหรือสีเหลือง เมื่อไรแดงระบาดมากจะพบว่าใบมะละกอเป็นสีเหลืองซีดต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แห้ง และร่วงไปในที่สุด ผลมะละกอสุกที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือสีเหลืองและจะแก่ก่อนกำหนดรสชาติไม่หวาน ไรแดงจะระบาดมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน
การป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เช่น ไดโคฟอล (เคลเทบ) อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรและควรจะใช้สารเคมีสลับชนิดเพื่อป้องกันไรแดงต้านทานสารเคมี

3. เพลี้ยหอย
เพลี้ยหอยมีอยู่หลายชนิดแต่ชนิดที่เข้าทำลายมะละกอจะมีเกราะหุ้มตัวอ่อนอยู่ภายใน เพลี้ยหอยดูดน้ำเลี้ยงที่ลำต้น ผล ก้านใบ และใบ แล้วขับถ่ายของเสียออกมาทำให้เชื้อราดำเจริญเติบโต จนใบและผลมีสีดำทำให้ต้นโทรม เพลี้ยหอยมีมดเป็นพาหะ ดังนั้นจึงต้องกำจัดมดด้วย

การป้องกันกำจัด
พ่นด้วยสารเคมีมาลาไธออน ใช้อัตราตามฉลากแนะนำ คงรพ่นยาทุก 3-4 สัปดาห์ จนกว่าเพลี้ยหอยจะแห้งตาย ถ้าพบต้นมะละกอถูกเพลี้ยหอยทำลายมากๆควรจะเผาต้นมะละกอนั้นทิ้ง

4. เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนชอบดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนที่อ่อนของลำต้น เช่น ยอดอ่อนหรือใบอ่อน ทำให้ใบพืชผิดปกติ ใบจะบิดหรือหดสั้นทำให้ต้นมะละกอชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันกำจัด
พ่นด้วนสารเคมีมาลาไธออน ใช้อัตราตามฉลากแนะนำ
ภายหลังการพ่นด้วยสารเคใต้องสังเกตอาการของใบมะละกอเพราะถ้าความเข้มข้นของสารเคมีสูงเกินไปหรือพ่นในเวลาที่แดดร้อนมากเกินไปจะทำให้ใบมะละกอไหม้และแห้งตายได้ และอย่าใช้สารเคมีระยะที่ต้นมะละกอเป็นกล้าเล็กๆเพราะจะทำให้กล้าตายอย่างรวดเร็ว

10. คำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม
การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม เกษตรกรควรรู้จักศัตรูพืชชนิดอัตราการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเลือกใช้เครื่องพ่น หัวพ่น และวิธีการพ่นที่ถูกต้อง มีข้อแนะนำควรปฏิบัติดังนี้
1. การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- ตรวจซ่อมอุปกรณ์เครื่องพ่นอย่าให้มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันสารพิษเปียกเปื้อนเสื้อผ้า และร่างกายของผู้พ่น
- ต้องสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันสารพิษ ได้แก่ หน้ากากหรือผ้าปิดจมูก ถุงมือ หมวก และรองเท้า เพื่อป้องกันอันตรายจากสารพิษ
- อ่านฉลากคำแนะนำคุณสมบัติ และวิธีการใช้ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง
- ควรพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ขณะลมสงบ หลีกเหลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง ขณะปฏิบัติงาน ผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- เตรียมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- เมื่อเลิกใช้ควรปิดฝาภาชนะบรรจุสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้สนิท เก็บไว้ในที่มิดชิด ห่างจากสถานที่ปรุงอาหาร แหล่งน้ำ และต้องปิดกุญแจโรงเก็บทุกครั้ง
- ภายหลังการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชทุกครั้ง ผู้พ่นต้องอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที เสื้อผ้าที่ใส่พ่นสารต้องซักให้สะอาดทุกครั้งไม่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้จะสลายตัวถึงระดับปลอดภัย โดยดูจากตาราคำแนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือฉลากที่บรรจุภาชนะ

2. การใช้เครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- เครื่องพ่นแบบสูบโยกสะพายหลัง
- เครื่องยนต์พ่นสารชนิดใช้แรงดันของเหลว (ลากสายปั๊ม 3 สูบ)

3. วิธีการใช้
- เครื่องพ่นสารแบบสูบโยกสะพายหลัง ใช้อัตราการพ่น 60-80 ลิตรต่อไร่ ใช้หัวพ่นแบบกรวยขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6-1.0 มิลลิเมตร) สำหรับพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรู และใช้หัวพ่นแบบพัดหรือแบบปะทะ สำหรับการพ่นสารกำจัดวัชพืช
-การพ่นสารกำจัดวัชพืช ต้องแยกใช้เครื่องพ่นเฉพาะ ไม่ใช้ปนกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นๆหลังพ่นไม่ควรรบกวนผิวหน้าดิน ขณะพ่นกดหัวพ่นต่ำ เพื่อให้ละอองสารเคมี ตกลงบนพื้นที่ต้องการควบคุมวัชพืชเท่านั้น ระวังการพ่นซ้ำแนวเดิม เพราะอาจทำให้ปริมาณสารเพิ่มเป็น สองเท่า
- เครื่องยนต์พ่นสารชนิดใช้แรงดันของเหลว ใช้อัตราการพ่น 80-120 ลิตรต่อไร่ ใช้ หัวพ่นแบบกรวยขนาดกลาง (เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0-2.0 มิลลิเมตร) ปรับความดันในระบบการพ่นไว้ที่ 10 บาร์ หรือ 150 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
- ถ้าเป็นหัวพ่นกรวยชนิดปรับได้ ควรปรับให้ได้ละอองกระจายกว้างที่สุด ซึ่งจะได้ละอองขนาดเล็กสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับการพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช
- ใช้ความเร็วในการเดินพ่นประมาณ 1 ก้าวต่อวินาที พ่นให้คลุมทั้งต้นไม่ควรพ่นจี้นานเกินไป เพราะจะทำให้นำโชกและไหลลงดิน ควรพลิก-หงายหรือยกหัวพ่นขึ้นลงเพื่อให้ละอองแทรกเข้าทรงพุ่มได้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านใต้ใบ
- การพ่นสารทุกครั้งให้เริ่มพ่นจากทางใต้ลมก่อน จากนั้นขยายแนวพ่นขึ้นเหนือลม ขณะเดียวกันหันหัวพ่นไปทางใต้ลมตลอดเวลา เพื่อหลีกเหลี่ยงการสัมผัสกับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- เมื่อใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหมดแล้ว ให้ล้างขวดบรรจุสารด้วยน้ำ 2-3 ครั้ง เทน้ำในถังพ่นปรับปริมาณน้ำตามความต้องการ ก่อนนำไปใช้พ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับภาชนะบรรจุสารที่ใช้หมดแล้ว คือ ขวด กล่องกระดาษ และถุงพลาสติก ให้ทำลายโดยการฝังดินห่างจากแหล่งน้ำ และให้มีความลึกมากพอที่สัตว์ไม่สามารถคุ้ยขึ้นมาได้ ห้ามเผาไฟและห้ามนำกลับมาใช้อีกครั้ง

ลุงหนวด
Power Membership
Power Membership
โพสต์: 4406
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 12 ธ.ค. 2014 12:01 pm

Re: วิธีการเตรียมปลูกมะละกอให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ป้องกัน โรค ปุ๋ย

โพสต์โดย ลุงหนวด » อาทิตย์ 15 พ.ค. 2016 12:52 am

ขอบคุณครับ

pantip
Sr. Member
Sr. Member
โพสต์: 472
ลงทะเบียนเมื่อ: เสาร์ 25 มิ.ย. 2016 12:50 am
ติดต่อ:

Re: วิธีการเตรียมปลูกมะละกอให้มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ป้องกัน โรค ปุ๋ย

โพสต์โดย pantip » เสาร์ 20 พ.ค. 2017 2:37 am

หน้าฝน ระวังโรงรากเน่านะ


ย้อนกลับไปยัง

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: 1 และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน